การได้มาซึ่งภรรยาและบุตร ล้วนเป็นลาภเลว

พระสูตรที่อ้างอิงในหมวดหมู่ ความรัก ครอบครัว อีกสูตรหนึ่งก็คือ อนุตริยสูตร เป็นสูตรที่กล่าวถึงสิ่งที่เลิศยอดที่สุดในโลก 6 ข้อ ซึ่งการได้มาซึ่งภรรยาและบุตร ก็เป็นหนึ่งในการได้มา คนเขาก็เรียกลาภ แต่พระพุทธเจ้าท่านเปรียบว่าการได้ภรรยาและบุตรมานั้น เหมือนการได้มาซึ่งลาภเลว เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการได้ศรัทธาพระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้า เนื้อความเต็มจะเป็นเช่นไร ก็ลองศึกษากันได้เลย

อนุตตริยสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุตตริยะ ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน คือ ทัสสนานุตตริยะ ๑ สวนานุตตริยะ ๑ ลาภานุตตริยะ ๑ สิกขานุตตริยะ ๑ ปาริจริยานุตตริยะ ๑ อนุสสตานุตตริยะ ๑ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทัสสนานุตตริยะเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไปเพื่อดูช้างแก้วบ้าง ม้าแก้วบ้าง แก้วมณีบ้าง ของใหญ่ ของเล็ก หรือสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทัสสนะนั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าทัสสนะนี้นั้นแลเป็นกิจเลว เป็น ของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่งเพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมไปเห็นพระตถาคต หรือสาวกพระตถาคต การเห็นนี้ยอดเยี่ยมกว่าการเห็นทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ไปเห็นพระตถาคต หรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่าทัสสนานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะเป็นดังนี้ ฯ

ก็สวนานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมไปเพื่อฟังเสียงกลองบ้าง เสียงพิณบ้าง เสียงเพลงขับบ้าง หรือเสียงสูงๆ ต่ำๆ ย่อมไปเพื่อฟังธรรมของสมณะ หรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การฟังนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการฟังนี้นั้นเป็นกิจเลว … ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมไปฟังธรรมของพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การฟังนี้ยอดเยี่ยมกว่าการฟังทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย … เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ไปเพื่อฟังธรรมของพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่า สวนานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ เป็นดังนี้ ฯ

ก็ลาภานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมได้ลาภคือบุตรบ้าง ภรรยาบ้าง ทรัพย์บ้าง หรือลาภมากบ้าง น้อยบ้าง หรือได้ศรัทธาในสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าลาภนี้นั้นเป็นของเลว … ดูกรภิกษุทั้งหลายส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การได้นี้ยอดเยี่ยมกว่าการได้ทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย … เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่า ลาภานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตริยะ ลาภานุตตริยะ เป็นดังนี้ ฯ

ก็สิกขานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมศึกษาศิลปะเกี่ยวกับช้างบ้าง ม้าบ้าง รถบ้าง ธนูบ้าง ดาบบ้าง หรือศึกษาศิลปชั้นสูงชั้นต่ำ ย่อมศึกษาต่อสมณะ หรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การศึกษานี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการศึกษานั้น เป็นการศึกษาที่เลว … ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมศึกษาอธิศีลบ้าง อธิจิตบ้าง อธิปัญญาบ้าง ในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว การศึกษานี้ยอดเยี่ยมกว่าการศึกษาทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย … เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมศึกษาอธิศีลบ้าง อธิจิตบ้าง อธิปัญญาบ้าง ในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วนี้ เราเรียกว่า สิกขานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ สิกขานุตตริอะ เป็นดังนี้ ฯ

ก็ปาริจริยานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมบำรุงกษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง คฤหบดีบ้าง บำรุงคนชั้นสูงชั้นต่ำ บำรุงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การบำรุงนี้นั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการบำรุงนี้นั้นเป็นการบำรุงที่เลว … ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหวมีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมบำรุงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การบำรุงนี้ยอดเยี่ยมกว่าการบำรุงทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย …เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมบำรุงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่า ปาริจริยานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ สิกขานุตตริยะ ปาริจริยานุตตริยะ เป็นดังนี้ ฯ

ก็อนุสสตานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมระลึกถึงการได้บุตรบ้าง ภริยาบ้าง ทรัพย์บ้าง หรือการได้มากน้อย ระลึกถึงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การระลึกนี้มีอยู่เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการระลึกนี้นั้นเป็นกิจเลว … ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมระลึกถึงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การระลึกถึงนี้ยอดเยี่ยมกว่า
การระลึกถึงทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมระลึกถึงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่า อนุสสตานุตตริยะดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุตตริยะ ๖ ประการนี้แล ฯ

ภิกษุเหล่าใดได้ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ ยินดีในสิกขานุตตริยะ เข้าไปตั้งการบำรุงเจริญอนุสสติที่ประกอบด้วยวิเวก เป็นแดนเกษม ให้ถึงอมตธรรม ผู้บันเทิงในความไม่ประมาท มีปัญญารักษาตน สำรวมในศีล ภิกษุเหล่านั้นแล ย่อมรู้ชัดซึ่งที่เป็นที่ดับทุกข์ โดยกาลอันควร ฯ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ อนุตตริยสูตร ข้อที่ ๓๐๑

ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์

เปมโต ชายตี โสโก เปมโต ชายตี ภยํ
เปมโต วิปฺปมุตฺตสฺส นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ.

ความโศกย่อมเกิดแต่ความรัก ภัยย่อมเกิดแต่ความรัก;
ความโศกย่อมไม่มีแก่ผู้พ้นวิเศษแล้วจากความรัก,
ภัยจักมีแต่ไหน.

เรื่องนางวิสาขาอุบาสิกา [๑๖๗]

วิสาขาสูตร

มิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล หลานของนางวิสาขามิคารมารดาเป็นที่รักที่พอใจ ทำกาละลง ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมารดามีผ้าเปียก ผมเปียกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับในเวลาเที่ยง ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะนางวิสาขามิคารมารดาว่า เชิญเถิดนางวิสาขา ท่านมาแต่ไหนหนอ มีผ้าเปียก มีผมเปียก เข้ามา ณ ที่นี้ในเวลาเที่ยง

นางวิสาขากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หลานของหม่อมฉัน เป็นที่รักที่พอใจ ทำกาละเสียแล้ว เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงมีผ้าเปียกมีผมเปียก เข้ามา ณที่นี้ในเวลาเที่ยง เจ้าค่ะ ฯ

พ. ดูกรนางวิสาขา ท่านพึงปรารถนาบุตรและหลานเท่ามนุษย์ในพระนครสาวัตถีหรือ
วิ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ หม่อมฉันพึงปรารถนาบุตรและหลานเท่ามนุษย์ในพระนครสาวัตถี เจ้าค่ะ ฯ
พ. ดูกรนางวิสาขา มนุษย์ในพระนครสาวัตถีมากเพียงไร ทำกาละอยู่ทุกวันๆ ฯ
วิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มนุษย์ในพระนครสาวัตถี ๑๐ คนบ้าง ๙ คนบ้าง ๘ คนบ้าง ๗ คนบ้าง ๖ คนบ้าง ๕ คนบ้าง ๔ คนบ้าง ๓ คนบ้าง ๒ คนบ้าง๑ คนบ้าง ทำกาละอยู่ทุกวันๆ ฯ
พ. ดูกรนางวิสาขา ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านพึงเป็นผู้มีผ้าเปียกหรือมีผมเปียกเป็นบางครั้งบางคราวหรือหนอ ฯ
วิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่ใช่อย่างนั้น เจ้าค่ะ พอเพียงแล้วด้วยบุตรและหลานมากเพียงนั้นแก่หม่อมฉัน ฯ

พ. ดูกรนางวิสาขา ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑๐๐

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๙๐

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๘๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๘๐

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๗๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๗๐

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๖๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๖๐

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๕๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๕๐

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๔๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๔๐

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๓๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๓๐

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๒๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๒๐

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑๐

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๙

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๘ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๘

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๗ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๗

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๖ ผู้นั้นก็มี ทุกข์ ๖

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๕ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๕

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๔ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๔

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๓ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๓

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๒ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๒

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑

ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่มีความโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่มีอุปายาส ฯ

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า ความโศกก็ดี ความร่ำไรก็ดี ความทุกข์ก็ดี มากมายหลายอย่างนี้มีอยู่ในโลก เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก เมื่อไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ความโศก ความร่ำไร
และความทุกข์เหล่านี้ย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้นแล ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ ผู้นั้นเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความโศก เพราะเหตุนั้น ผู้ปรารถนาความไม่โศก อันปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่พึงทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รัก ในโลกไหนๆ ฯ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ วิสาขาสูตร ข้อ ๑๗๖

 

บัณฑิตประพฤติตนเป็นโสด คนโง่ฝักใฝ่ในเมถุน

ปณฺฑิโตติ สมญฺญาโต เอกจริยํ อธิฏฺฐิโต อถาปิ เมถุเน ยุตฺโต มนฺโทว ปริกิสฺสติ

ผู้ตั้งใจประพฤติตนเป็นคนโสด เขารู้กันว่าเป็นบัณฑิต, ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเมถุน ย่อมเศร้าหมอง

(พุทฺธ) ขุ. สุ. ๒๕/๔๙๔.

ขุ. มหา. ๒๙/๑๘๖.

ว่าด้วยเมถุนธรรม

คำว่า ของบุคคลผู้ประกอบเนืองๆ ในเมถุนธรรม ความว่า ชื่อว่าเมถุนธรรมได้แก่ ธรรมของอสัตบุรุษ ธรรมของชาวบ้าน ธรรมของคนเลว ธรรมชั่วหยาบ ธรรมมีน้ำเป็นที่สุดธรรมอันพึงทำในที่ลับ ธรรมคือความถึงพร้อมแห่งคนคู่ๆ กัน.

เพราะเหตุไร จึงเรียกว่า เมถุนธรรม. เพราะเป็นธรรมของคนทั้งสองผู้กำหนัด กำหนัดกล้า ผู้ชุ่มด้วยราคะ มีราคะกำเริบขึ้น มีจิตอันราคะครอบงำ เป็นธรรมของคนเช่นเดียวกันทั้งสองคน เพราะเหตุดังนี้นั้น จึงเรียกว่าเมถุนธรรม.

คนสองคนทำความทะเลาะกัน เรียกว่าคนคู่
คนสองคนทำความมุ่งร้ายกัน เรียกว่าคนคู่
คนสองคนทำความอื้อฉาวกัน เรียกว่าคนคู่
คนสองคนทำความวิวาทกัน เรียกว่าคนคู่
คนสองคนก่ออธิกรณ์กัน เรียกว่าคนคู่
คนสองคนพูดกัน เรียกว่าคนคู่
คนสองคนปราศรัยกัน เรียกว่าคนคู่ ฉันใด ธรรมนั้นเป็นธรรมของคนทั้งสองผู้กำหนัด กำหนัดกล้า ผู้ชุ่มด้วยราคะ มีราคะกำเริบขึ้น มีจิตอันราคะครอบงำ เป็นคนเช่นเดียวกันทั้งสองคน ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุดังนี้นั้น จึงเรียกว่า เมถุนธรรม.

คำว่า ของบุคคลผู้ประกอบเนืองๆ ในเมถุนธรรม คือ ของบุคคลผู้ประกอบ ประกอบทั่ว ประกอบเอื้อเฟื้อ ประกอบพร้อมในเมถุนธรรม คือ ประพฤติในเมถุนธรรม มักมากในเมถุนธรรม หนักอยู่ในเมถุนธรรม น้อมไปในเมถุนธรรม โน้มไปในเมถุนธรรม โอนไปในเมถุนธรรม น้อมใจไปในเมถุนธรรม มีเมถุนธรรมนั้นเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ของบุคคลผู้ประกอบเนืองๆ ในเมถุนธรรม.

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทสที่ ๗ ข้อ ๒๒๕

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ ข้อ ๗๕๒ ว่าด้วยเมถุน

ว่าด้วยการอยู่ร่วมกับคนเป็นคู่เวรกันเป็นทุกข์

บัณฑิตไม่ควรอยู่ในสถานที่ที่คนคู่เวรกันอยู่
เพราะบุคคลเมื่ออยู่ในระหว่างคนเป็นคู่เวรกัน
คืนหนึ่งหรือสองคืนก็ตามย่อมอยู่เป็นทุกข์

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ เวริชาดก ข้อ ๑๐๓

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ กปิชาดก ข้อ ๖๑

การตัดสินใจมีคู่ เกิดจากวิบากกรรมเก่าหรือไม่

การตัดสินใจมีคู่ เกิดจากวิบากกรรมเก่าหรือไม่

คำถาม : ถ้าจะตัดสินใจมีคู่ เกิดจากวิบากกรรมเก่าของเราหรือไม่ จะวางใจอย่างไร จึงจะไม่ขัดกับคำว่า กายนี้มีไว้เพื่อดับทุกข์ใจเท่านั้น

พระพุทธเจ้าบอกว่ามันเป็นบาป การมีคู่เป็นทุกข์ และทุกข์ที่สุดในโลกด้วยนะ “เกิดจากวิบากเก่าของเราหรือไม่” ตัดสินใจมีคู่ก็วิบากใหม่นี่แหละ ตัดสินใจใหม่นี่แหละ บางทีมันก็ไม่ได้มีเก่าเลย ไปตัดสินใจใหม่นี่แหละ หรือบางทีมันอาจจะมีวิบากกรรมเก่ามาปนด้วย แต่กรรมใหม่น่ะแน่นอน วิบากกรรมเก่าอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ใหม่นี่แน่ ๆ เลย

ไปตัดสินใจมีคู่ทำไม บาปหนักนะ ทุกข์หนักนะ จะบอกให้ มันไปเหนี่ยวนำให้คนอื่นเป็นตามด้วยนะ จะทุกข์หนักนะ คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า คนที่เขามีกันแล้ว เขาก็พูดกันมา “โอ๊ย อย่าไปหาเรื่อง อย่าไปหาเรื่อง ตาย ๆ  ๆ  หาเรื่องจริง ๆ เลย มันทุกข์หนักนะ ไม่ใช่เล่น ๆ นะ” พระพุทธเจ้าบอกว่า บัณฑิตพึงประพฤติตนเป็นโสด ส่วนคนโง่!! (ด่าแรง ๆ เลยนะ) ฝักใฝ่ในคู่ครองย่อมเศร้าหมอง  มันจะหมองแรงเลยนะ มันจะไปทำดีไม่ได้ดั่งใจเราหมายนะ เราอยากไปทำดีตรงนั้นตรงนี้จะไปไม่ได้ดั่งใจเราหมาย คุณจะไม่ได้สิ่งดี ๆ ดั่งใจคุณหมายเยอะแยะไปหมดเลย แล้วต้องไปจมกับเรื่องไร้สาระเต็มไปหมดเลยนะ คุณอยากจะจมอย่างนั้นก็เชิญนะ แต่อย่าไปเลย มันอันตราย

นี่คำถามเขาว่า ถ้าจะตัดสินใจมีคู่ เกิดจากวิบากกรรมเก่าของเราหรือไม่ จะวางใจอย่างไร จึงจะไม่ขัดกับคำว่า กายนี้มีไว้เพื่อดับทุกข์ใจเท่านั้น ด้วยความเคารพยิ่ง , เอ้า! ถ้าเคารพก็ทำตามอาจารย์นี่แหละ อยู่เป็นโสดไป เคารพยังไงวะ!? เคารพแล้วก็ทำกลับหัวกับที่เราสอน เคารพยังไง? ประหลาด ๆ ก็แล้วแต่นะ ถ้าไม่มีคู่ได้ก็ดี ถ้ามันอดไม่ได้ มันมีกิเลส มีเวรมีกรรม ก็แล้วไป ก็ต้องไปทุกข์นั่นแหละ กายนี้ก็มีไว้เพื่อสร้างทุกข์เท่านั้นแหละ ถ้าไปมีคู่ก็ทุกข์อีกยาว มันจะยาวอีกหลายชาตินะ อย่าประมาทนะ มันจะอีกหลายชาติเลย อย่าไปหาเรื่องเลยน่า เคยมีคู่กันมาตั้งไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว การมีเป็นทุกข์ (พระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น) มีไปมันก็เป็นห่วง 1.ถ้าดีก็เป็นห่วง กลัวจะไม่ได้ดีอย่างนู้นอย่างนี้ 2. ถ้าไม่ดีก็ทุกข์ ทำไมทำไม่ดีอย่างนู้นอย่างนี้ มันเป็นทุกข์นะ แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นอีก อยากให้เขาได้ดีอย่างนั้นอย่างนี้ พอเขาไม่ได้ดีแบบที่คุณมุ่งหมาย ไม่ทำดีแบบที่คุณมุ่งหมาย คุณเอ๋ย…แล้วคุณจะทุกข์ใจ

ทุกข์คราวนี้ละโอ้โฮแย่เลย 1.เขาจะไม่ทำดีอย่างที่คุณมุ่งหมาย ไม่ได้ดีที่คุณมุ่งหมาย หรือมีวิบากร้ายแง่นั้นเชิงนี้เข้ามาในชีวิตเขาก็ทุกข์ 2.ต่อให้เขาเป็นคนดีคุณก็จะทุกข์ กลัวเขาจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ กลัวเขาจะเป็นอันตราย กลัวจะไม่ได้สภาพที่ดี กลัวเขาจะพลัดพรากจากไป มันก็มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นแหละ มีแต่ทุกข์และทุกข์และทุกข์ ตอบไว้เท่านี้ก่อนแล้วกัน สรุปเกิดจากวิบากเก่าของเราหรือไม่ ก็ตอบว่าวิบากใหม่เป็นหลักเลยแหละ วิบากใหม่ที่ตัดสินใจจะมีหรือไม่มีนี่แหละ ถ้าตัดสินใจจะมีคู่นี่เป็นวิบากใหม่ บาปหนักเลยแหละ แต่ถ้าตัดสินใจอยู่เป็นโสดก็บุญหนักเลย บุญใหญ่เลย , บาปใหญ่กับบุญใหญ่นะ เลือกเอา จะไปทางไหน บาปใหญ่ กับ บุญใหญ่ อาจารย์ตอบได้เท่านี้ เวลาน้อย ๆ สั้น ๆ ก็ตอบได้เท่านี้

26 มิถุนายน 2562 , ค่ายสุขภาพและพระไตรปิฎกแพทย์วิถีธรรม สวนป่านาบุญ๑

ดร.ใจเพชร กล้าจน (หมอเขียว)

โสดดีหรือมีคู่ : อรุณรัตน์ ไกรมาศศิริ

น.ส. อรุณรัตน์ ไกรมาศศิริ ชื่อเล่นว่า หม่วย มีชื่อทางธรรมว่า พิมพ์ผ่องศีล อายุ 53 ปี สังกัดที่บำเพ็ญ สวนป่านาบุญ ๑ สถานภาพ โสดสนิท รู้จักและปฏิบัติตามหลักแพทย์วิถีธรรมมา 7 ปี

ก่อนที่จะมาพบแพทย์วิถีธรรม มีความคิดว่าโสดก็ได้ มีคู่ก็ได้ แต่ไม่เคยดิ้นรนที่จะหาคู่ แต่เพื่อน ๆ ที่สนิท มีความเห็นว่า เราควรมีคู่ จึงแนะนำให้รู้จักกับผู้ชายที่คิดว่าเหมาะสม หลังจากที่นัดกินข้าวเพื่อทำความรู้จัก 1 ครั้ง ตัวเองก็รู้เลยว่า เป็นคนที่ไม่ชอบมีคู่ รู้สึกว่ามันไม่ใช่ธรรมชาติของเรา เวลาอยู่กับคนที่เราไม่คุ้นเคย ไม่ได้มีความรู้สึกว่าคู่จะสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้เรา แต่รู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่เป็นธรรมชาติ

หลังจากได้พบและศึกษาจากแพทย์วิถีธรรม มีความมั่นใจในเรื่องการอยู่เป็นโสดมากขึ้น และดีใจที่เลือกการอยู่เป็นโสด มีความรู้เพิ่มขึ้นว่า การมีคู่เป็นวิบากต่อตนเอง สร้างบ่วงให้ตนเอง ในมุมของการปฏิบัติตนให้อยู่เป็นโสด คุณหม่วยแสดงความเห็นว่า “จริง ๆ ค่อนข้างมั่นใจว่า เราจะเป็นโสดแน่นอน” อุตส่าห์อยู่เป็นโสดมาจนอายุ 53 ปีแล้ว คิดว่าไม่เลือกชีวิตคุ่แน่นอน แต่ก็ไม่ประมาท ถ้ามีชายหนุ่มที่ดูเหมือนเขาจะมาตีสนิทมากเกินไป เราก็จะทำตัวห่างเหิน ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม

โสดดีหรือมีคู่ : ธานินทร์ มุ่งชมกลาง

นายธานินทร์ มุ่งชมกลาง ชื่อเล่นว่า บอย มีชื่อทางธรรมว่า เสบียงบุญ อายุ 32 สถานภาพโสด รู้จักกับแพทย์วิถีธรรมมาประมาณ 4-5 ปี

ก่อนพบแพทย์วิถีธรรมก็เห็นว่า คนส่วนมากบอกกัน สอนกัน ว่าโตไปประมาณหนึ่งก็จะหาคู่แล้วก็เดินจูงมือกัน ทำพฤติกรรมเหมือนว่ามีความสุขมากในการมีคู่ มาโชว์ มาอวดกัน ผมก็คิดว่าน่าจะดี …ซึ่งก็โดนปลูกฝังความคิดแบบนั้นมา…(ว่ามันสุขมาก…)

ต่อมาได้พบและศึกษากับแพทย์วิถีธรรมก็ได้รู้ความจริงเพิ่มขึ้นว่าตอนที่คบกัน ก็ทำเหมือนจะสุข(คล้าย ๆ ) แต่ตอนที่คบกันจริงแล้วก็มีความจริงที่จะทำให้เราเกิดทุกข์ได้ต่าง ๆ นา ๆ หลากหลายสาเหตุ เช่น เมื่อรักหรือผูกพันกันมาก เวลาพลัดพรากจากกันก็จะรู้สึกทุกข์ ตอนที่ทะเลาะกัน ตอนที่ไม่เข้าใจกันมันก็ทุกข์ เมื่อคาดหวังหรือยากได้สิ่งใดแล้วไม่ได้ก็ทุกข์ ซึ่งความจริงก็จะมีทั้งสุขและทุกข์ ถ้าเราอยากมากก็จะทุกข์มาก

การปฏิบัติตนในตอนนี้ก็คือ พยายามที่จะฝึกตนอยู่เป็นโสดให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้จริง…ซึ่งรู้การอยู่เป็นโสด จะทำให้การเดินทาง การกิน การอยู่ การนอนง่ายขึ้น ชีวิตมีความพอเพียง และเรียบง่ายมากขึ้น

โสดดีหรือมีคู่ ลักขณา วรพงศ์พัฒน์

นางสาว ลักขณา วรพงศ์พัฒน์ หรือคุณเอ๊า มีชื่อทางธรรมว่า “บุญแพงค่า” อายุ 51 ปี สถานะโสดสนิท โสดมาอย่างยาวนาน และตั้งใจที่จะอยู่เป็นโสดต่อไป ศึกษาแพทย์วิถีธรรมมา 10 ปี

ก่อนมาพบกับแพทย์วิถีธรรม คุณลักขณาคิดว่า การมีคู่นั้นดี เป็นชีวิตที่สมบูรณ์แบบ มีความสุข แต่หลังจากที่มาพบแพทย์วิถีธรรมก็ได้ความรู้ว่า บัณฑิตพึงตั้งตนเป็นโสด ความโสดเป็นสุขอย่างยิ่ง รู้สึกแบบว่า โอ้โห! เราโชคดีมาก ๆ ที่ได้มาพบอาจารย์ เปิดตาให้สว่าง ได้พบความสุขจริง ความอิสระให้ชีวิตได้ทำประโยชน์ให้ตนและช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ต้องหลงในบ่วงกรรมชีวิตคู่

ในส่วนของการปฏิบัติ คุณลักขณาตั้งใจที่จะตั้งตนอยู่บนความไม่ประมาท เพราะต้องพยายามลดกิเลส กาม ความหลง เนื่องจากได้เห็นผู้ปฏิบัติธรรมคร่ำเคร่งก็ยังหลงมีวิบากไปใช้ชีวิตคู่ จะทำขณะปัจจุบัน ลดการเพ่งโทษ ฝึกฝน พากเพียร อดทน สู้ ๆ