กุฏิกาสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

กุฏิกาสูตรที่ ๙

[๔๐] (เทวดากล่าวว่า) กระท่อมของท่านไม่มีหรือ รังของท่านไม่มีหรือ เครื่องสืบต่อของท่านไม่มีหรือ ท่านเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูกหรือ ฯ

[๔๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) แน่ละ กระท่อมของเราไม่มี แน่ละ รังของเราไม่มี แน่ละ เครื่องสืบต่อของเราไม่มี แน่ละ เราเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูก ฯ

[๔๒] ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่า อะไรเป็นกระท่อม ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็นรัง ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็นเครื่องสืบต่อ ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็นเครื่องผูก ฯ

[๔๓] ท่านกล่าวมารดาว่าเป็นกระท่อม ท่านกล่าวภรรยาว่าเป็นรังท่านกล่าวบุตรว่าเป็นเครื่องสืบต่อ ท่านกล่าวตัณหาว่าเป็นเครื่องผูกแก่เรา ฯ

ดีจริง กระท่อมของท่านไม่มี ดีจริง รังของท่านไม่มี ดีจริงเครื่องสืบต่อของท่านไม่มี ดีจริง ท่านเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูก ฯ

จาก : https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=15&A=230&Z=247

การได้มาซึ่งภรรยาและบุตร ล้วนเป็นลาภเลว

พระสูตรที่อ้างอิงในหมวดหมู่ ความรัก ครอบครัว อีกสูตรหนึ่งก็คือ อนุตริยสูตร เป็นสูตรที่กล่าวถึงสิ่งที่เลิศยอดที่สุดในโลก 6 ข้อ ซึ่งการได้มาซึ่งภรรยาและบุตร ก็เป็นหนึ่งในการได้มา คนเขาก็เรียกลาภ แต่พระพุทธเจ้าท่านเปรียบว่าการได้ภรรยาและบุตรมานั้น เหมือนการได้มาซึ่งลาภเลว เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการได้ศรัทธาพระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้า เนื้อความเต็มจะเป็นเช่นไร ก็ลองศึกษากันได้เลย

อนุตตริยสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุตตริยะ ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน คือ ทัสสนานุตตริยะ ๑ สวนานุตตริยะ ๑ ลาภานุตตริยะ ๑ สิกขานุตตริยะ ๑ ปาริจริยานุตตริยะ ๑ อนุสสตานุตตริยะ ๑ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทัสสนานุตตริยะเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไปเพื่อดูช้างแก้วบ้าง ม้าแก้วบ้าง แก้วมณีบ้าง ของใหญ่ ของเล็ก หรือสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทัสสนะนั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าทัสสนะนี้นั้นแลเป็นกิจเลว เป็น ของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่งเพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมไปเห็นพระตถาคต หรือสาวกพระตถาคต การเห็นนี้ยอดเยี่ยมกว่าการเห็นทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ไปเห็นพระตถาคต หรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่าทัสสนานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะเป็นดังนี้ ฯ

ก็สวนานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมไปเพื่อฟังเสียงกลองบ้าง เสียงพิณบ้าง เสียงเพลงขับบ้าง หรือเสียงสูงๆ ต่ำๆ ย่อมไปเพื่อฟังธรรมของสมณะ หรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การฟังนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการฟังนี้นั้นเป็นกิจเลว … ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมไปฟังธรรมของพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การฟังนี้ยอดเยี่ยมกว่าการฟังทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย … เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ไปเพื่อฟังธรรมของพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่า สวนานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ เป็นดังนี้ ฯ

ก็ลาภานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมได้ลาภคือบุตรบ้าง ภรรยาบ้าง ทรัพย์บ้าง หรือลาภมากบ้าง น้อยบ้าง หรือได้ศรัทธาในสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าลาภนี้นั้นเป็นของเลว … ดูกรภิกษุทั้งหลายส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การได้นี้ยอดเยี่ยมกว่าการได้ทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย … เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่า ลาภานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตริยะ ลาภานุตตริยะ เป็นดังนี้ ฯ

ก็สิกขานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมศึกษาศิลปะเกี่ยวกับช้างบ้าง ม้าบ้าง รถบ้าง ธนูบ้าง ดาบบ้าง หรือศึกษาศิลปชั้นสูงชั้นต่ำ ย่อมศึกษาต่อสมณะ หรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การศึกษานี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการศึกษานั้น เป็นการศึกษาที่เลว … ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมศึกษาอธิศีลบ้าง อธิจิตบ้าง อธิปัญญาบ้าง ในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว การศึกษานี้ยอดเยี่ยมกว่าการศึกษาทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย … เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมศึกษาอธิศีลบ้าง อธิจิตบ้าง อธิปัญญาบ้าง ในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วนี้ เราเรียกว่า สิกขานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ สิกขานุตตริอะ เป็นดังนี้ ฯ

ก็ปาริจริยานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมบำรุงกษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง คฤหบดีบ้าง บำรุงคนชั้นสูงชั้นต่ำ บำรุงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การบำรุงนี้นั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการบำรุงนี้นั้นเป็นการบำรุงที่เลว … ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหวมีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมบำรุงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การบำรุงนี้ยอดเยี่ยมกว่าการบำรุงทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย …เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมบำรุงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่า ปาริจริยานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ สิกขานุตตริยะ ปาริจริยานุตตริยะ เป็นดังนี้ ฯ

ก็อนุสสตานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมระลึกถึงการได้บุตรบ้าง ภริยาบ้าง ทรัพย์บ้าง หรือการได้มากน้อย ระลึกถึงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การระลึกนี้มีอยู่เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการระลึกนี้นั้นเป็นกิจเลว … ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมระลึกถึงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การระลึกถึงนี้ยอดเยี่ยมกว่า
การระลึกถึงทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมระลึกถึงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่า อนุสสตานุตตริยะดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุตตริยะ ๖ ประการนี้แล ฯ

ภิกษุเหล่าใดได้ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ ยินดีในสิกขานุตตริยะ เข้าไปตั้งการบำรุงเจริญอนุสสติที่ประกอบด้วยวิเวก เป็นแดนเกษม ให้ถึงอมตธรรม ผู้บันเทิงในความไม่ประมาท มีปัญญารักษาตน สำรวมในศีล ภิกษุเหล่านั้นแล ย่อมรู้ชัดซึ่งที่เป็นที่ดับทุกข์ โดยกาลอันควร ฯ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ อนุตตริยสูตร ข้อที่ ๓๐๑

ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์

เปมโต ชายตี โสโก เปมโต ชายตี ภยํ
เปมโต วิปฺปมุตฺตสฺส นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ.

ความโศกย่อมเกิดแต่ความรัก ภัยย่อมเกิดแต่ความรัก;
ความโศกย่อมไม่มีแก่ผู้พ้นวิเศษแล้วจากความรัก,
ภัยจักมีแต่ไหน.

เรื่องนางวิสาขาอุบาสิกา [๑๖๗]

วิสาขาสูตร

มิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล หลานของนางวิสาขามิคารมารดาเป็นที่รักที่พอใจ ทำกาละลง ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมารดามีผ้าเปียก ผมเปียกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับในเวลาเที่ยง ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะนางวิสาขามิคารมารดาว่า เชิญเถิดนางวิสาขา ท่านมาแต่ไหนหนอ มีผ้าเปียก มีผมเปียก เข้ามา ณ ที่นี้ในเวลาเที่ยง

นางวิสาขากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หลานของหม่อมฉัน เป็นที่รักที่พอใจ ทำกาละเสียแล้ว เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงมีผ้าเปียกมีผมเปียก เข้ามา ณที่นี้ในเวลาเที่ยง เจ้าค่ะ ฯ

พ. ดูกรนางวิสาขา ท่านพึงปรารถนาบุตรและหลานเท่ามนุษย์ในพระนครสาวัตถีหรือ
วิ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ หม่อมฉันพึงปรารถนาบุตรและหลานเท่ามนุษย์ในพระนครสาวัตถี เจ้าค่ะ ฯ
พ. ดูกรนางวิสาขา มนุษย์ในพระนครสาวัตถีมากเพียงไร ทำกาละอยู่ทุกวันๆ ฯ
วิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มนุษย์ในพระนครสาวัตถี ๑๐ คนบ้าง ๙ คนบ้าง ๘ คนบ้าง ๗ คนบ้าง ๖ คนบ้าง ๕ คนบ้าง ๔ คนบ้าง ๓ คนบ้าง ๒ คนบ้าง๑ คนบ้าง ทำกาละอยู่ทุกวันๆ ฯ
พ. ดูกรนางวิสาขา ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านพึงเป็นผู้มีผ้าเปียกหรือมีผมเปียกเป็นบางครั้งบางคราวหรือหนอ ฯ
วิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่ใช่อย่างนั้น เจ้าค่ะ พอเพียงแล้วด้วยบุตรและหลานมากเพียงนั้นแก่หม่อมฉัน ฯ

พ. ดูกรนางวิสาขา ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑๐๐

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๙๐

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๘๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๘๐

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๗๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๗๐

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๖๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๖๐

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๕๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๕๐

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๔๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๔๐

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๓๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๓๐

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๒๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๒๐

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑๐

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๙

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๘ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๘

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๗ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๗

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๖ ผู้นั้นก็มี ทุกข์ ๖

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๕ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๕

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๔ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๔

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๓ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๓

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๒ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๒

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑

ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่มีความโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่มีอุปายาส ฯ

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า ความโศกก็ดี ความร่ำไรก็ดี ความทุกข์ก็ดี มากมายหลายอย่างนี้มีอยู่ในโลก เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก เมื่อไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ความโศก ความร่ำไร
และความทุกข์เหล่านี้ย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้นแล ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ ผู้นั้นเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความโศก เพราะเหตุนั้น ผู้ปรารถนาความไม่โศก อันปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่พึงทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รัก ในโลกไหนๆ ฯ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ วิสาขาสูตร ข้อ ๑๗๖

 

บัณฑิตประพฤติตนเป็นโสด คนโง่ฝักใฝ่ในเมถุน

ปณฺฑิโตติ สมญฺญาโต เอกจริยํ อธิฏฺฐิโต อถาปิ เมถุเน ยุตฺโต มนฺโทว ปริกิสฺสติ

ผู้ตั้งใจประพฤติตนเป็นคนโสด เขารู้กันว่าเป็นบัณฑิต, ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเมถุน ย่อมเศร้าหมอง

(พุทฺธ) ขุ. สุ. ๒๕/๔๙๔.

ขุ. มหา. ๒๙/๑๘๖.

ว่าด้วยเมถุนธรรม

คำว่า ของบุคคลผู้ประกอบเนืองๆ ในเมถุนธรรม ความว่า ชื่อว่าเมถุนธรรมได้แก่ ธรรมของอสัตบุรุษ ธรรมของชาวบ้าน ธรรมของคนเลว ธรรมชั่วหยาบ ธรรมมีน้ำเป็นที่สุดธรรมอันพึงทำในที่ลับ ธรรมคือความถึงพร้อมแห่งคนคู่ๆ กัน.

เพราะเหตุไร จึงเรียกว่า เมถุนธรรม. เพราะเป็นธรรมของคนทั้งสองผู้กำหนัด กำหนัดกล้า ผู้ชุ่มด้วยราคะ มีราคะกำเริบขึ้น มีจิตอันราคะครอบงำ เป็นธรรมของคนเช่นเดียวกันทั้งสองคน เพราะเหตุดังนี้นั้น จึงเรียกว่าเมถุนธรรม.

คนสองคนทำความทะเลาะกัน เรียกว่าคนคู่
คนสองคนทำความมุ่งร้ายกัน เรียกว่าคนคู่
คนสองคนทำความอื้อฉาวกัน เรียกว่าคนคู่
คนสองคนทำความวิวาทกัน เรียกว่าคนคู่
คนสองคนก่ออธิกรณ์กัน เรียกว่าคนคู่
คนสองคนพูดกัน เรียกว่าคนคู่
คนสองคนปราศรัยกัน เรียกว่าคนคู่ ฉันใด ธรรมนั้นเป็นธรรมของคนทั้งสองผู้กำหนัด กำหนัดกล้า ผู้ชุ่มด้วยราคะ มีราคะกำเริบขึ้น มีจิตอันราคะครอบงำ เป็นคนเช่นเดียวกันทั้งสองคน ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุดังนี้นั้น จึงเรียกว่า เมถุนธรรม.

คำว่า ของบุคคลผู้ประกอบเนืองๆ ในเมถุนธรรม คือ ของบุคคลผู้ประกอบ ประกอบทั่ว ประกอบเอื้อเฟื้อ ประกอบพร้อมในเมถุนธรรม คือ ประพฤติในเมถุนธรรม มักมากในเมถุนธรรม หนักอยู่ในเมถุนธรรม น้อมไปในเมถุนธรรม โน้มไปในเมถุนธรรม โอนไปในเมถุนธรรม น้อมใจไปในเมถุนธรรม มีเมถุนธรรมนั้นเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ของบุคคลผู้ประกอบเนืองๆ ในเมถุนธรรม.

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทสที่ ๗ ข้อ ๒๒๕

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ ข้อ ๗๕๒ ว่าด้วยเมถุน

ว่าด้วยการอยู่ร่วมกับคนเป็นคู่เวรกันเป็นทุกข์

บัณฑิตไม่ควรอยู่ในสถานที่ที่คนคู่เวรกันอยู่
เพราะบุคคลเมื่ออยู่ในระหว่างคนเป็นคู่เวรกัน
คืนหนึ่งหรือสองคืนก็ตามย่อมอยู่เป็นทุกข์

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ เวริชาดก ข้อ ๑๐๓

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ กปิชาดก ข้อ ๖๑