พันธนสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

พันธนสูตรที่ ๑๐

[๓๕๒] ก็โดยสมัยนั้นแล หมู่มหาชนถูกพระเจ้าปเสนทิโกศลให้จองจำไว้แล้ว บางพวกถูกจองจำด้วยเชือก บางพวกถูกจองจำด้วยขื่อคา บางพวกถูกจองจำด้วยโซ่ตรวน ฯ

ครั้งนั้นแล ภิกษุหลายรูปครองผ้าเรียบร้อยแล้วในเวลาเช้าถือบาตรและจีวรเข้าไปสู่พระนครสาวัตถี เพื่อบิณฑบาต ครั้นกลับจากบิณฑบาตในเวลาหลังภัตตาหารแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ
พวกภิกษุเหล่านั้นนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้หมู่มหาชนถูกพระเจ้าปเสนทิโกศลให้จองจำไว้แล้ว บางพวกถูกจองจำด้วยเชือก บางพวกถูกจองจำด้วยขื่อคา บางพวกถูกจองจำด้วยโซ่ตรวน ฯ

[๓๕๓] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่านักปราชญ์ทั้งหลายไม่ได้กล่าวเครื่องจองจำที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้ และทำด้วยหญ้า (เชือก) ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่น

นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวความรักใคร่พอใจนักในแก้วมณีและกุณฑล และความห่วงอาลัยในบุตรและภรรยาทั้งหลายว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่น พาให้ตกต่ำ เป็นเครื่องจำที่หย่อนๆ แต่ปลดเปลื้องได้ยาก นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเครื่องจองจำแม้เช่นนั้นออกบวช เป็นผู้ไม่มีความห่วงอาลัย ละกามสุขเสียแล้ว ฯ

คัดลอกจาก : https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=15&A=2486&Z=2514

กุฏิกาสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

กุฏิกาสูตรที่ ๙

[๔๐] (เทวดากล่าวว่า) กระท่อมของท่านไม่มีหรือ รังของท่านไม่มีหรือ เครื่องสืบต่อของท่านไม่มีหรือ ท่านเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูกหรือ ฯ

[๔๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) แน่ละ กระท่อมของเราไม่มี แน่ละ รังของเราไม่มี แน่ละ เครื่องสืบต่อของเราไม่มี แน่ละ เราเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูก ฯ

[๔๒] ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่า อะไรเป็นกระท่อม ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็นรัง ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็นเครื่องสืบต่อ ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็นเครื่องผูก ฯ

[๔๓] ท่านกล่าวมารดาว่าเป็นกระท่อม ท่านกล่าวภรรยาว่าเป็นรังท่านกล่าวบุตรว่าเป็นเครื่องสืบต่อ ท่านกล่าวตัณหาว่าเป็นเครื่องผูกแก่เรา ฯ

ดีจริง กระท่อมของท่านไม่มี ดีจริง รังของท่านไม่มี ดีจริงเครื่องสืบต่อของท่านไม่มี ดีจริง ท่านเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูก ฯ

จาก : https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=15&A=230&Z=247

การได้มาซึ่งภรรยาและบุตร ล้วนเป็นลาภเลว

พระสูตรที่อ้างอิงในหมวดหมู่ ความรัก ครอบครัว อีกสูตรหนึ่งก็คือ อนุตริยสูตร เป็นสูตรที่กล่าวถึงสิ่งที่เลิศยอดที่สุดในโลก 6 ข้อ ซึ่งการได้มาซึ่งภรรยาและบุตร ก็เป็นหนึ่งในการได้มา คนเขาก็เรียกลาภ แต่พระพุทธเจ้าท่านเปรียบว่าการได้ภรรยาและบุตรมานั้น เหมือนการได้มาซึ่งลาภเลว เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการได้ศรัทธาพระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้า เนื้อความเต็มจะเป็นเช่นไร ก็ลองศึกษากันได้เลย

อนุตตริยสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุตตริยะ ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน คือ ทัสสนานุตตริยะ ๑ สวนานุตตริยะ ๑ ลาภานุตตริยะ ๑ สิกขานุตตริยะ ๑ ปาริจริยานุตตริยะ ๑ อนุสสตานุตตริยะ ๑ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทัสสนานุตตริยะเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไปเพื่อดูช้างแก้วบ้าง ม้าแก้วบ้าง แก้วมณีบ้าง ของใหญ่ ของเล็ก หรือสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทัสสนะนั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าทัสสนะนี้นั้นแลเป็นกิจเลว เป็น ของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่งเพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมไปเห็นพระตถาคต หรือสาวกพระตถาคต การเห็นนี้ยอดเยี่ยมกว่าการเห็นทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ไปเห็นพระตถาคต หรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่าทัสสนานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะเป็นดังนี้ ฯ

ก็สวนานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมไปเพื่อฟังเสียงกลองบ้าง เสียงพิณบ้าง เสียงเพลงขับบ้าง หรือเสียงสูงๆ ต่ำๆ ย่อมไปเพื่อฟังธรรมของสมณะ หรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การฟังนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการฟังนี้นั้นเป็นกิจเลว … ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมไปฟังธรรมของพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การฟังนี้ยอดเยี่ยมกว่าการฟังทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย … เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ไปเพื่อฟังธรรมของพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่า สวนานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ เป็นดังนี้ ฯ

ก็ลาภานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมได้ลาภคือบุตรบ้าง ภรรยาบ้าง ทรัพย์บ้าง หรือลาภมากบ้าง น้อยบ้าง หรือได้ศรัทธาในสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าลาภนี้นั้นเป็นของเลว … ดูกรภิกษุทั้งหลายส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การได้นี้ยอดเยี่ยมกว่าการได้ทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย … เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่า ลาภานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตริยะ ลาภานุตตริยะ เป็นดังนี้ ฯ

ก็สิกขานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมศึกษาศิลปะเกี่ยวกับช้างบ้าง ม้าบ้าง รถบ้าง ธนูบ้าง ดาบบ้าง หรือศึกษาศิลปชั้นสูงชั้นต่ำ ย่อมศึกษาต่อสมณะ หรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การศึกษานี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการศึกษานั้น เป็นการศึกษาที่เลว … ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมศึกษาอธิศีลบ้าง อธิจิตบ้าง อธิปัญญาบ้าง ในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว การศึกษานี้ยอดเยี่ยมกว่าการศึกษาทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย … เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมศึกษาอธิศีลบ้าง อธิจิตบ้าง อธิปัญญาบ้าง ในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วนี้ เราเรียกว่า สิกขานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ สิกขานุตตริอะ เป็นดังนี้ ฯ

ก็ปาริจริยานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมบำรุงกษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง คฤหบดีบ้าง บำรุงคนชั้นสูงชั้นต่ำ บำรุงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การบำรุงนี้นั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการบำรุงนี้นั้นเป็นการบำรุงที่เลว … ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหวมีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมบำรุงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การบำรุงนี้ยอดเยี่ยมกว่าการบำรุงทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย …เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมบำรุงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่า ปาริจริยานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ สิกขานุตตริยะ ปาริจริยานุตตริยะ เป็นดังนี้ ฯ

ก็อนุสสตานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมระลึกถึงการได้บุตรบ้าง ภริยาบ้าง ทรัพย์บ้าง หรือการได้มากน้อย ระลึกถึงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การระลึกนี้มีอยู่เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการระลึกนี้นั้นเป็นกิจเลว … ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมระลึกถึงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การระลึกถึงนี้ยอดเยี่ยมกว่า
การระลึกถึงทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมระลึกถึงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่า อนุสสตานุตตริยะดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุตตริยะ ๖ ประการนี้แล ฯ

ภิกษุเหล่าใดได้ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ ยินดีในสิกขานุตตริยะ เข้าไปตั้งการบำรุงเจริญอนุสสติที่ประกอบด้วยวิเวก เป็นแดนเกษม ให้ถึงอมตธรรม ผู้บันเทิงในความไม่ประมาท มีปัญญารักษาตน สำรวมในศีล ภิกษุเหล่านั้นแล ย่อมรู้ชัดซึ่งที่เป็นที่ดับทุกข์ โดยกาลอันควร ฯ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ อนุตตริยสูตร ข้อที่ ๓๐๑