ขัคควิสาณสูตรที่ ๓

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

ขัคควิสาณสูตรที่ ๓

[๒๙๖] บุคคลวางอาชญาในสัตว์ทั้งปวงแล้ว ไม่เบียดเบียนบรรดาสัตว์เหล่านั้นแม้ผู้ใดผู้หนึ่งให้ลำบาก ไม่พึงปรารถนาบุตรจะพึงปรารถนาสหายแต่ที่ไหน พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น

ความเยื่อใยย่อมมีแก่บุคคลผู้เกี่ยวข้องกันทุกข์นี้ย่อมเกิดขึ้นตามความเยื่อใย บุคคลเล็งเห็นโทษอันเกิดแต่ความเยื่อใย พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น

บุคคลอนุเคราะห์มิตรสหายเป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์แล้วชื่อว่าย่อมยังประโยชน์ให้เสื่อม บุคคลเห็นภัย คือ การยังประโยชน์ให้เสื่อมในการเชยชิดนี้ พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น

บุคคลข้องอยู่แล้ว ด้วยความเยื่อใยในบุตรและภริยา เหมือนไม้ไผ่กอใหญ่เกี่ยวก่ายกัน ฉะนั้นบุคคลไม่ข้องอยู่เหมือนหน่อไม้ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น

เนื้อในป่าที่บุคคลไม่ผูกไว้แล้ว ย่อมไปหากินตามความปรารถนา ฉันใด นรชนผู้รู้แจ้ง เพ่งความ
ประพฤติตามความพอใจของตน พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น

การปรึกษาในที่อยู่ ที่ยืน ในการไป ในการเที่ยวย่อมมีในท่ามกลางแห่งสหาย บุคคลเพ่งความ
ประพฤติตามความพอใจ ที่พวกบุรุษชั่วไม่เพ่งเล็งแล้วพึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น

การเล่นการยินดี ย่อมมีในท่ามกลางแห่งสหาย อนึ่ง ความรักที่ยิ่งใหญ่ย่อมมีในบุตรทั้งหลาย บุคคลเมื่อเกลียดชังความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น

บุคคลย่อมเป็นอยู่ตามสบายในทิศทั้งสี่และไม่เดือดร้อน ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
ครอบงำเสียซึ่งอันตราย ไม่หวาดเสียว พึงเป็นผู้เที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น

แม้บรรพชิตบางพวกก็สงเคราะห์ได้ยาก อนึ่ง คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนสงเคราะห์ได้ยาก บุคคลเป็นผู้มีความขวนขวายน้อยในบุตรของผู้อื่น พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น

นักปราชญ์ละเหตุอันเป็นเครื่องปรากฏแห่งคฤหัสถ์ ดุจต้นทองหลางมีใบร่วงหล่น ตัดเครื่องผูกแห่งคฤหัสถ์ได้แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น

ถ้าว่าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน ผู้เที่ยวไปร่วมกันได้ มีปรกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้ พึงครอบงำอันตรายทั้งปวง เป็นผู้มีใจชื่นชม มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น

หากว่าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน ผู้เที่ยวไปร่วมกันได้ มีปรกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว ดุจพระราชาทรงละแว่นแคว้นอันพระองค์ทรงชนะแล้วเสด็จไปแต่ผู้เดียว ดุจช้างชื่อมาตังคะละโขลงเที่ยวอยู่ในป่าแต่ผู้เดียว ฉะนั้น เราย่อมสรรเสริญสหายผู้ถึงพร้อมด้วยศีลขันธ์เป็นต้น พึงคบสหายผู้ประเสริฐสุด ผู้เสมอกัน กุลบุตรไม่ได้สหายผู้ประเสริฐสุดและผู้เสมอกันเหล่านี้แล้ว พึงเป็นผู้บริโภคโภชนะไม่มีโทษเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น

บุคคลแลดูกำไลทองทั้งสองอันงามผุดผ่อง ที่บุตรแห่งนายช่างทองให้สำเร็จด้วยดีแล้ว กระทบกันอยู่ในข้อมือ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น

การที่เราจะพึงพูดจากับพระกุมารที่สอง หรือการข้องอยู่ด้วยอำนาจแห่งความเยื่อใย พึงมีได้อย่างนี้ บุคคลเล็งเห็นภัยนี้ในอนาคต พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น

ก็กามทั้งหลายงามวิจิตรมีรสอร่อย เป็นที่รื่นรมย์ใจ ย่อมย่ำยีจิตด้วยรูปแปลกๆ บุคคลเห็นโทษในกามคุณทั้งหลายแล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น

บุคคลเห็นภัย คือ จัญไร ผี อุปัทวะ โรค ลูกศร และความน่ากลัวนี้ ในกามคุณทั้งหลายแล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น

บุคคลพึงครอบงำอันตรายเหล่านี้แม้ทั้งปวง คือ หนาว ร้อน หิว ระหาย ลม แดด เหลือบและสัตว์เสือกคลานแล้วพึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น

บุคคลพึงเป็นผู้เที่ยวไปผู้เดียวเช่นกับนอแรด เปรียบเหมือนช้างใหญ่ผู้เกิดในตระกูลปทุม มีศีลขันธ์เกิดขึ้นแล้ว ละโขลงอยู่ในป่าตามอภิรมย์ ฉะนั้น

(พระปัจเจกพุทธเจ้าได้กล่าวกึ่งคาถาว่า)
บุคคลพึงใคร่ครวญถ้อยคำของพระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ว่า การที่บุคคลผู้ยินดีแล้วด้วยการคลุกคลีด้วยหมู่คณะจะพึงบรรลุวิมุตติอันมีในสมัยนั้น ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

(พระกุมารได้กล่าวกึ่งคาถาที่พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าอาทิจจพันธุกล่าวแล้วให้บริบูรณ์ว่า) พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น

เราล่วงพ้นทิฐิอันเป็นข้าศึกได้แล้ว ถึงความเป็นผู้เที่ยง ได้มรรคแล้ว เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว อันผู้อื่นไม่พึงแนะนำพึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น

บุคคลผู้ไม่โลภ ไม่หลอกลวง ไม่มีความกระหาย ไม่ลบหลู่ มีโมหะดุจน้ำฝาดอันกำจัดเสียแล้ว ไม่มีความอยาก ครอบงำโลกทั้งปวงได้แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น

กุลบุตรพึงเว้นสหายผู้ลามกไม่พึงเสพด้วยตนเองซึ่งสหายผู้ชี้บอกความฉิบหายมิใช่ประโยชน์ ผู้ตั้งอยู่ในกรรมอันไม่เสมอ ผู้ข้องอยู่ ผู้ประมาท พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น

บุคคลพึงคบมิตรผู้เป็นพหูสูตรทรงธรรม ผู้ยิ่งด้วยคุณธรรม มีปฏิภาณ บุคคลรู้จักประโยชน์ทั้งหลาย กำจัดความสงสัยได้แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น

บุคคลไม่พอใจการเล่น ความยินดีและกามสุขในโลกแล้ว ไม่เพ่งเล็งอยู่ เว้นจากฐานะแห่งการประดับ มีปรกติกล่าวคำสัตย์ พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น

บุคคลละบุตร ภริยา บิดา มารดา ทรัพย์ ข้าวเปลือก พวกพ้อง และกามซึ่งตั้งอยู่ตามส่วนแล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้นบัณฑิตทราบว่า ความเกี่ยวข้องในเวลาบริโภคเบญจกามคุณนี้มีสุขน้อย มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก ดุจหัวฝี ดังนี้แล้วพึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น

บุคคลพึงทำลายสังโยชน์ทั้งหลายเสีย เหมือนปลาทำลายข่าย เหมือนไฟไม่หวนกลับมาสู่ที่ไหม้แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น

บุคคลผู้มีจักษุทอดลงแล้ว ไม่คะนองเท้า มีอินทรีย์อันคุ้มครองแล้ว มีใจอันรักษาแล้ว ผู้อันกิเลสไม่รั่วรดแล้ว และอันไฟ คือกิเลสไม่แผดเผาอยู่ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น

บุคคลละเพศแห่งคฤหัสถ์ดุจต้นทองหลางมีใบร่วงหล่นแล้ว นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น

ภิกษุไม่กระทำความยินดีในรสทั้งหลาย ไม่โลเล ไม่เลี้ยงคนอื่น มีปรกติเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก ผู้มีจิตไม่ผูกพันในตระกูล พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น

บุคคลละธรรมเป็นเครื่องกั้นจิต ๕ อย่าง บรรเทาอุปกิเลสทั้งปวงแล้ว ผู้อันทิฐิไม่อาศัย ตัดโทษคือความเยื่อใยได้แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น

บุคคลละสุข ทุกข์ โสมนัสและโทมนัสในกาลก่อนได้ได้อุเบกขาและสมถะอันบริสุทธิ์แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น

บุคคลปรารภความเพียรเพื่อบรรลุปรมัตถประโยชน์ มีจิตไม่หดหู่ มีความประพฤติไม่เกียจคร้าน มีความบากบั่นมั่น ถึงพร้อมแล้วด้วยกำลังกายและกำลังญาณ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น

บุคคลไม่ละการหลีกเร้นและฌาน มีปรกติประพฤติธรรมอันสมควรเป็นนิตย์ในธรรมทั้งหลาย พิจารณาเห็นโทษในภพทั้งหลาย พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น

บุคคลผู้ปรารถนาความสิ้นตัณหา พึงเป็นผู้ไม่ประมาท ไม่เป็นคนบ้าคนใบ้ มีการสดับ มีสติ มีธรรมอันกำหนดรู้แล้ว เป็นผู้เที่ยง มีความเพียร พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น

บุคคลไม่สะดุ้งในธรรมมีความไม่เที่ยงเป็นต้น เหมือนราชสีห์ไม่สะดุ้งในเสียง ไม่ข้องอยู่ในธรรมมีขันธ์และอายตนะเป็นต้น เหมือนลมไม่ข้องอยู่ในข่าย ไม่ติดอยู่ด้วยความยินดีและความโลภ เหมือนดอกปทุมไม่ติดอยู่ด้วยน้ำ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น

บุคคลพึงเสพเสนาสนะอันสงัด เป็นผู้เที่ยวไปผู้เดียวเช่นกับนอแรด เหมือนราชสีห์มีเขี้ยวเป็นกำลัง ข่มขี่ครอบงำหมู่เนื้อเที่ยวไป ฉะนั้น บุคคลเสพอยู่ซึ่งเมตตาวิมุติ กรุณาวิมุติ มุทิตาวิมุติ และอุเบกขาวิมุติ ในกาลอันควร ไม่ยินร้ายด้วยโลกทั้งปวง พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น

บุคคลละราคะ โทสะ และโมหะแล้วทำลายสังโยชน์ทั้งหลายแล้ว ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น มนุษย์ทั้งหลายผู้ไม่สะอาด มีปัญญามุ่งประโยชน์ตน ย่อมคบหาสมาคมเพราะมีเหตุเป็นประโยชน์ ผู้ไม่มีเหตุมาเป็นมิตร หาได้ยากในทุกวันนี้ บุคคลพึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น ฯ

พันธนสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

พันธนสูตรที่ ๑๐

[๓๕๒] ก็โดยสมัยนั้นแล หมู่มหาชนถูกพระเจ้าปเสนทิโกศลให้จองจำไว้แล้ว บางพวกถูกจองจำด้วยเชือก บางพวกถูกจองจำด้วยขื่อคา บางพวกถูกจองจำด้วยโซ่ตรวน ฯ

ครั้งนั้นแล ภิกษุหลายรูปครองผ้าเรียบร้อยแล้วในเวลาเช้าถือบาตรและจีวรเข้าไปสู่พระนครสาวัตถี เพื่อบิณฑบาต ครั้นกลับจากบิณฑบาตในเวลาหลังภัตตาหารแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ
พวกภิกษุเหล่านั้นนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้หมู่มหาชนถูกพระเจ้าปเสนทิโกศลให้จองจำไว้แล้ว บางพวกถูกจองจำด้วยเชือก บางพวกถูกจองจำด้วยขื่อคา บางพวกถูกจองจำด้วยโซ่ตรวน ฯ

[๓๕๓] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่านักปราชญ์ทั้งหลายไม่ได้กล่าวเครื่องจองจำที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้ และทำด้วยหญ้า (เชือก) ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่น

นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวความรักใคร่พอใจนักในแก้วมณีและกุณฑล และความห่วงอาลัยในบุตรและภรรยาทั้งหลายว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่น พาให้ตกต่ำ เป็นเครื่องจำที่หย่อนๆ แต่ปลดเปลื้องได้ยาก นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเครื่องจองจำแม้เช่นนั้นออกบวช เป็นผู้ไม่มีความห่วงอาลัย ละกามสุขเสียแล้ว ฯ

คัดลอกจาก : https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=15&A=2486&Z=2514

กุฏิกาสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

กุฏิกาสูตรที่ ๙

[๔๐] (เทวดากล่าวว่า) กระท่อมของท่านไม่มีหรือ รังของท่านไม่มีหรือ เครื่องสืบต่อของท่านไม่มีหรือ ท่านเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูกหรือ ฯ

[๔๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) แน่ละ กระท่อมของเราไม่มี แน่ละ รังของเราไม่มี แน่ละ เครื่องสืบต่อของเราไม่มี แน่ละ เราเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูก ฯ

[๔๒] ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่า อะไรเป็นกระท่อม ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็นรัง ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็นเครื่องสืบต่อ ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าอะไรเป็นเครื่องผูก ฯ

[๔๓] ท่านกล่าวมารดาว่าเป็นกระท่อม ท่านกล่าวภรรยาว่าเป็นรังท่านกล่าวบุตรว่าเป็นเครื่องสืบต่อ ท่านกล่าวตัณหาว่าเป็นเครื่องผูกแก่เรา ฯ

ดีจริง กระท่อมของท่านไม่มี ดีจริง รังของท่านไม่มี ดีจริงเครื่องสืบต่อของท่านไม่มี ดีจริง ท่านเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูก ฯ

จาก : https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=15&A=230&Z=247

การได้มาซึ่งภรรยาและบุตร ล้วนเป็นลาภเลว

พระสูตรที่อ้างอิงในหมวดหมู่ ความรัก ครอบครัว อีกสูตรหนึ่งก็คือ อนุตริยสูตร เป็นสูตรที่กล่าวถึงสิ่งที่เลิศยอดที่สุดในโลก 6 ข้อ ซึ่งการได้มาซึ่งภรรยาและบุตร ก็เป็นหนึ่งในการได้มา คนเขาก็เรียกลาภ แต่พระพุทธเจ้าท่านเปรียบว่าการได้ภรรยาและบุตรมานั้น เหมือนการได้มาซึ่งลาภเลว เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการได้ศรัทธาพระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้า เนื้อความเต็มจะเป็นเช่นไร ก็ลองศึกษากันได้เลย

อนุตตริยสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุตตริยะ ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน คือ ทัสสนานุตตริยะ ๑ สวนานุตตริยะ ๑ ลาภานุตตริยะ ๑ สิกขานุตตริยะ ๑ ปาริจริยานุตตริยะ ๑ อนุสสตานุตตริยะ ๑ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทัสสนานุตตริยะเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไปเพื่อดูช้างแก้วบ้าง ม้าแก้วบ้าง แก้วมณีบ้าง ของใหญ่ ของเล็ก หรือสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทัสสนะนั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าทัสสนะนี้นั้นแลเป็นกิจเลว เป็น ของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่งเพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมไปเห็นพระตถาคต หรือสาวกพระตถาคต การเห็นนี้ยอดเยี่ยมกว่าการเห็นทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ไปเห็นพระตถาคต หรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่าทัสสนานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะเป็นดังนี้ ฯ

ก็สวนานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมไปเพื่อฟังเสียงกลองบ้าง เสียงพิณบ้าง เสียงเพลงขับบ้าง หรือเสียงสูงๆ ต่ำๆ ย่อมไปเพื่อฟังธรรมของสมณะ หรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การฟังนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการฟังนี้นั้นเป็นกิจเลว … ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมไปฟังธรรมของพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การฟังนี้ยอดเยี่ยมกว่าการฟังทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย … เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ไปเพื่อฟังธรรมของพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่า สวนานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ เป็นดังนี้ ฯ

ก็ลาภานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมได้ลาภคือบุตรบ้าง ภรรยาบ้าง ทรัพย์บ้าง หรือลาภมากบ้าง น้อยบ้าง หรือได้ศรัทธาในสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าลาภนี้นั้นเป็นของเลว … ดูกรภิกษุทั้งหลายส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การได้นี้ยอดเยี่ยมกว่าการได้ทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย … เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่า ลาภานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตริยะ ลาภานุตตริยะ เป็นดังนี้ ฯ

ก็สิกขานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมศึกษาศิลปะเกี่ยวกับช้างบ้าง ม้าบ้าง รถบ้าง ธนูบ้าง ดาบบ้าง หรือศึกษาศิลปชั้นสูงชั้นต่ำ ย่อมศึกษาต่อสมณะ หรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การศึกษานี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการศึกษานั้น เป็นการศึกษาที่เลว … ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมศึกษาอธิศีลบ้าง อธิจิตบ้าง อธิปัญญาบ้าง ในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว การศึกษานี้ยอดเยี่ยมกว่าการศึกษาทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย … เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมศึกษาอธิศีลบ้าง อธิจิตบ้าง อธิปัญญาบ้าง ในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วนี้ เราเรียกว่า สิกขานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ สิกขานุตตริอะ เป็นดังนี้ ฯ

ก็ปาริจริยานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมบำรุงกษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง คฤหบดีบ้าง บำรุงคนชั้นสูงชั้นต่ำ บำรุงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การบำรุงนี้นั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการบำรุงนี้นั้นเป็นการบำรุงที่เลว … ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหวมีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมบำรุงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การบำรุงนี้ยอดเยี่ยมกว่าการบำรุงทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย …เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมบำรุงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่า ปาริจริยานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ สิกขานุตตริยะ ปาริจริยานุตตริยะ เป็นดังนี้ ฯ

ก็อนุสสตานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมระลึกถึงการได้บุตรบ้าง ภริยาบ้าง ทรัพย์บ้าง หรือการได้มากน้อย ระลึกถึงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การระลึกนี้มีอยู่เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการระลึกนี้นั้นเป็นกิจเลว … ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมระลึกถึงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การระลึกถึงนี้ยอดเยี่ยมกว่า
การระลึกถึงทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมระลึกถึงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่า อนุสสตานุตตริยะดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุตตริยะ ๖ ประการนี้แล ฯ

ภิกษุเหล่าใดได้ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ ยินดีในสิกขานุตตริยะ เข้าไปตั้งการบำรุงเจริญอนุสสติที่ประกอบด้วยวิเวก เป็นแดนเกษม ให้ถึงอมตธรรม ผู้บันเทิงในความไม่ประมาท มีปัญญารักษาตน สำรวมในศีล ภิกษุเหล่านั้นแล ย่อมรู้ชัดซึ่งที่เป็นที่ดับทุกข์ โดยกาลอันควร ฯ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ อนุตตริยสูตร ข้อที่ ๓๐๑