ว่าด้วยเมถุนธรรม

คำว่า ของบุคคลผู้ประกอบเนืองๆ ในเมถุนธรรม ความว่า ชื่อว่าเมถุนธรรมได้แก่ ธรรมของอสัตบุรุษ ธรรมของชาวบ้าน ธรรมของคนเลว ธรรมชั่วหยาบ ธรรมมีน้ำเป็นที่สุดธรรมอันพึงทำในที่ลับ ธรรมคือความถึงพร้อมแห่งคนคู่ๆ กัน.

เพราะเหตุไร จึงเรียกว่า เมถุนธรรม. เพราะเป็นธรรมของคนทั้งสองผู้กำหนัด กำหนัดกล้า ผู้ชุ่มด้วยราคะ มีราคะกำเริบขึ้น มีจิตอันราคะครอบงำ เป็นธรรมของคนเช่นเดียวกันทั้งสองคน เพราะเหตุดังนี้นั้น จึงเรียกว่าเมถุนธรรม.

คนสองคนทำความทะเลาะกัน เรียกว่าคนคู่
คนสองคนทำความมุ่งร้ายกัน เรียกว่าคนคู่
คนสองคนทำความอื้อฉาวกัน เรียกว่าคนคู่
คนสองคนทำความวิวาทกัน เรียกว่าคนคู่
คนสองคนก่ออธิกรณ์กัน เรียกว่าคนคู่
คนสองคนพูดกัน เรียกว่าคนคู่
คนสองคนปราศรัยกัน เรียกว่าคนคู่ ฉันใด ธรรมนั้นเป็นธรรมของคนทั้งสองผู้กำหนัด กำหนัดกล้า ผู้ชุ่มด้วยราคะ มีราคะกำเริบขึ้น มีจิตอันราคะครอบงำ เป็นคนเช่นเดียวกันทั้งสองคน ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุดังนี้นั้น จึงเรียกว่า เมถุนธรรม.

คำว่า ของบุคคลผู้ประกอบเนืองๆ ในเมถุนธรรม คือ ของบุคคลผู้ประกอบ ประกอบทั่ว ประกอบเอื้อเฟื้อ ประกอบพร้อมในเมถุนธรรม คือ ประพฤติในเมถุนธรรม มักมากในเมถุนธรรม หนักอยู่ในเมถุนธรรม น้อมไปในเมถุนธรรม โน้มไปในเมถุนธรรม โอนไปในเมถุนธรรม น้อมใจไปในเมถุนธรรม มีเมถุนธรรมนั้นเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ของบุคคลผู้ประกอบเนืองๆ ในเมถุนธรรม.

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทสที่ ๗ ข้อ ๒๒๕

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ ข้อ ๗๕๒ ว่าด้วยเมถุน