บารายคาลเจอร์

บารายคาลเจอร์ ( BarayCulture : กสิกรรมไร้สารพิษแบบประหยัดน้ำ หรือภูเขาเนรมิต )

เพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนที่แท้จริงของมวลมนุษยชาติ โดย ดร.ใจเพชร กล้าจน (หมอเขียว) ณ สวนป่านาบุญ๑ จังหวัดมุกดาหาร

บารายคาลเจอร์ ( BarayCulture : กสิกรรมไร้สารพิษแบบประหยัดน้ำ หรือภูเขาเนรมิต ) เป็นการผสมผสานระหว่างบาราย (ธนาคารน้ำแบบปิด) กับเพอร์มาคาลเจอร์ (กสิกรรมยั่งยืนพลังศีล) เป็นนวัตกรรมการทำกสิกรรมที่สมบูรณ์แบบ เป็นวิธีปลูกพืชที่ไม่ต้องรดน้ำมาก ไม่ต้องรดน้ำบ่อย มีความครบพร้อมทั้งหิน ทั้งดิน ทั้งอินทรีวัตถุ เป็นสภาพเหมือนป่าเขาตามธรรมชาติ

ในภูเขามีทั้งหิน ทั้งดิน ทั้งอินทรีย์วัตถุ มีทั้งต้นไม้ แล้วก็มีฝนธรรมชาติตกลงมา ทำให้ชุ่มชื้นตลอดเวลา ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครไปรดน้ำ การทำบารายคาลเจอร์จึงเปรียบเหมือนการทำภูเขาเล็ก ๆ แล้วก็มีพืชอยู่บนภูเขา เวลาฝนตกน้ำก็ไม่ท่วม เพราะน้ำสามารถซึมลงใต้ดินได้

พอกลางวันอากาศร้อน หินก็จะร้อน น้ำที่อยู่ข้างล่างก็ระเหยขึ้นมา พืชก็ดูดมาใช้ประโยชน์ พอถึงกลางคืนอากาศเย็น โดยหลักวิทยาศาสตร์ น้ำก็จะควบแน่น ก็ควบแน่นเป็นหยดน้ำ ตกลงไปในหลุมเหมือนเดิม เวลาเรารดน้ำ น้ำก็ไม่ได้หายไปไหน มันก็อยู่ในหลุมนั้น รดน้ำครั้งเดียวอาจอยู่ได้ 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน

เราก็จะปลูกพืชอื่น ๆ เช่น มะเขือเทศ มะละกอ หรือพืชอื่น ๆ ในหน้าฝนได้ เพราะเราทำสูงขึ้นมาจากพื้นดิน น้ำก็ไม่ท่วม หรือแม้ในหน้าแล้ง ก็สามารถปลูกพืชได้ เพราะบารายคาลเจอร์ มีความชุ่มชื้นตลอดเวลา

วิธีทำบารายคาลเจอร์

1. ขุดหลุมทรงกระบอก กว้าง 3 ฟุต ลึก 1-2 ฟุต สามารถปรับขนาดได้ตามความสามารถในการควบคุมดูแลได้อย่างทั่วถึง คือเริ่มทำจากเล็กไปใหญ่ ทำตามแรง ไม่โลภ ขอบปากหลุม ให้ทำเป็นสโลปคือลาดเอียงมาทางหลุม เพื่อให้น้ำไหลลงหลุมได้สะดวก

2.ขุดสะดือ เพื่อไม่ให้น้ำท่วม ความกว้างของสะดือ คือ 10 เซนติเมตร ลึกจากก้นหลุม ลงไปอีกครึ่งฟุต แล้วใส่กรวดลงไปให้เต็มสะดือ จากนั้นรองพื้นด้วยหินหนา ราว 1-2 คืบ

วัสดุ สามารถปรับใช้วัสดุตามที่มีในแต่ท้องถิ่น

1. อินทรีย์วัตถุ เช่น ท่อนไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ใบหญ้า ขุยมะพร้าว กาบมะพร้าว ขี้เลื่อย เศษอาหาร ใส่หนาราว 1-3 คืบ กดให้แน่น (อินทรีย์วัตถุเป็นทั้งปุ๋ย ทั้งตัวเก็บน้ำ อุ้มน้ำ ซับน้ำ)

2. ดิน ใส่บาง ๆ หนาราว 1 เซนติเมตร ทำให้รากพืชลงไปได้ เป็นการหมักตามธรรมชาติ ทำให้จุลินทรีย์เดินไปได้

3. หิน กรวด หรือเศษอิฐ ใส่บาง ๆ หนาราว 1-5 เซนติเมตร หินทำให้มีโพรง ทำให้น้ำเคลื่อนขึ้นลงได้สะดวก อีกทั้งเป็นตัวพยุงยึดเกาะดินและอินทรีย์วัตถุไว้

โดยจัดเรียงลำดับโดยใช้หลัก เบาสุดอยู่ล่าง หนักสุดอยู่บน คือวัสดุตามข้อ 1 ตามด้วยข้อ 2,3 ตามลำดับ ทำเป็นชั้น ๆ สลับไปเรื่อย ๆ จนถึงระดับความสูงเท่าที่ต้องการ มาถึงชั้นบนสุดใส่ดินดีคลุกกับหิน หนาราว 1 คืบ จากนั้นห่มดินด้วยอินทรีย์วัตถุ เช่น หญ้า ใบไม้ หรือฟาง เพื่อคลุมดินให้ชุ่มชื้น จากนั้นสามารถปลูกพืชได้เลย (ในกรณีที่เป็นอินทรีย์วัตถุแบบแห้ง) หากเป็นอินทรีย์วัตถุแบบสด ควรปล่อยไว้ราว 1 เดือนขึ้นไป ให้เขามีขบวนการหมักตามธรรมชาติที่สมบูรณ์

โอบอุ้มกองภูเขาบารายคาลเจอร์ไว้ ฐานขอบปากหลุม ให้โอบอุ้ม กองภูเขาบารายคาลเจอร์ไว้ อาจใช้หินก้อนใหญ่ กะลามะพร้าว หรืออื่น ๆ วางไว้รอบ ๆ เพื่อช่วยพยุงและป้องกันการพังทลายของบารายคาลเจอร์จากการรดน้ำหรือฝนที่ตกลงมา

รอบ ๆ หลุมบารายคาลเจอร์ ให้ทำรางน้ำไร้ท่อเป็นวงกลม เพื่อให้เป็นทางเข้าของน้ำ ด้วยการขุดรอบ ๆ หลุมบารายคาลเจอร์ ลึกลงไปราว 1-2 คืบ ใส่หินลงไป โรยด้วยวัสดุแข็งหรือหินกรวดให้พื้นเรียบ เหลือปากขอบราว 10 เซนติเมตร จากนั้นปูด้วยตาข่ายไนล่อน (หากมี) เพื่อป้องกันการอุดตันของรางน้ำไร้ท่อ อันเกิดจากเศษดินตกลงไป และโรยกรวดทับตาข่ายจนถึงระดับขอบพื้นดิน

หากทำบารายคาลเจอร์หลาย ๆ หลุม ระหว่างหลุมให้ทำรางน้ำไร้ท่อเชื่อมกัน เปิดเป็นทางให้น้ำไหลเข้าได้ ให้ระบายอากาศได้

ดร.ใจเพชร กล้าจน
(หมอเขียว)
22 มิถุนายน 2562
สวนป่านาบุญ 1 มุกดาหาร

ผลจากการทดลองรดน้ำ 1 ครั้งผ่านไป

 

สิ่งที่ดีที่สุดในโลกคือ

คบและเคารพมิตรดี ไม่โทษใคร ใจไร้ทุกข์ ทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ คำคมเพชรจากใจเพชร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *